บทสัมภาษณ์พิเศษ คุณวรเดช รุกขพันธุ์ CEO ของบริษัท วีบียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด โดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 ธันวาคม 2561
สถานที่นัดหมายของเราคืออาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์ตึกสูงใจกลางสาทร นักธุรกิจหนุ่มวัยเพียง 31 ปี“วรเดช รุกขพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วี บียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด ผู้คลุกคลีกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่เด็กพร้อมจะบอกเล่าถึงธุรกิจที่ปรึกษาและให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรของเขา ซึ่งมีโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจและต้องการร่วมงานจากดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำของวงการอสังหาฯ มากที่สุดในเวลานี้การต่อยอดความสำเร็จจากการบริหารงานขายในสายการเงินการธนาคาร จนกระทั่งผันตัวมาเริ่มตามความฝันในธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ของตัวเอง แม้จะปิดการขายได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่คิดคือการเป็นมากกว่าคนพัฒนา และค้นพบว่าสิ่งที่เขาถนัดที่สุดคือ “การขาย” นำมาสู่ธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างวีบียอนด์ และขยายกิ่งก้านเป็นบริษัท วีบีแลนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด ทำหน้าที่จัดสรรที่ดิน ทำสถิติรีเสิร์ชให้กับดีเวลลอปเปอร์ที่อยากลงทุนในพื้นที่ทั่วประเทศทั้งแนวราบและแนวสูง“ครอบครัวผมมีธุรกิจด้านอสังหาฯ แต่เราทำกันแบบลูกทุ่ง ดังนั้นผมจึงเห็นทุกสเต็ปการพัฒนาที่ดิน ก่อสร้างอาคาร ไปจนถึงการขายตั้งแต่เด็ก ฝังใจว่าอยากทำด้านนี้ พอทำงานมีเงินเก็บจึงไปซื้อที่ดินแปลงเล็กๆ ในเชียงใหม่ ทำเป็นอาคารพาณิชย์ 15 ห้อง ราคา 3-4 ล้านบาทต่อยูนิต เฟสแรกถือว่าประสบความสำเร็จ ผมได้ดูแลงานเองทุกส่วนตั้งแต่เริ่มต้นทั้งงานก่อสร้าง การเงิน การตลาด ซึ่งไม่ง่ายเลย ผ่านอุปสรรคมาจนรู้ซึ้งถึงหัวใจของการเป็นผู้ประกอบการว่า หลักสำคัญคือ การบริหารการขายให้ทันท่วงทีและทันเวลา ไม่เช่นนั้นเราจะเจ็บตัวเพราะดอกเบี้ย”วรเดช ตกผลึกได้ว่าจะไม่ทำโครงการที่ 2 ต่อ แต่มองหาแนวทางใหม่ในการทำธุรกิจโดยยังเป็นด้านอสังหาริมทรัพย์ใช้โอกาสจากจุดแข็งคือ “งานขาย” ซึ่งเป็นปัญหาของดีเวลลอปเปอร์ส่วนใหญ่ ที่ปิดการขายแต่ละโครงการใช้เวลากว่า 3 ปี แต่เขาใช้กลยุทธ์การขายในแบบฉบับของตัวเองสามารถเคลมได้ว่าปิดการขายได้เร็วขึ้น จากเวลาการขาย 3 ปี ปิดได้ใน 3-6 เดือน ซึ่งทำได้จริงและประสบความสำเร็จมาแล้วหลายโครงการ ทำให้ปัจจุบันเขาจึงเปรียบเสมือนเป็นลมใต้ปีกของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นพันธมิตรคู่ค้าเจ้าใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์อยู่ด้วยกันหลายแบรนด์ รวมทั้งแบรนด์ขนาดกลางอีกหลายแห่งที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังเปิดกว้างในการรับคู่ค้าที่ติดต่อเข้ามาเพื่อเป็นพันธมิตรทางธุรกิจตลอด เพราะวีบียอนด์ยึดมั่นในนโยบายสำคัญที่จะผลักดันคู่ค้าให้มีผลประกอบการที่ดีควบคู่ไปด้วยกัน “ประสบการณ์การเป็นผู้พัฒนามาก่อน ทำให้เข้าใจความต้องการของผู้พัฒนาที่ดิน และผู้ซื้อ เราทำให้ดีเวลลอปเปอร์ต้นทุนเบาลงปิดการขายได้เร็วขึ้น ภาระดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินก็ไม่สูง ผู้ซื้อก็ได้ที่อยู่อาศัยตรงที่ต้องการในราคาคุณธรรมเรียกว่าวิน-วินทุกฝ่าย วีบียอนด์จะไม่ทำโปรโมชั่นแบบที่คนอื่นทำ เรามีอะไรที่ล้ำกว่านั้น ผมจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าซื้อห้องจากเราไปคือราคาเน็ตไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม ซึ่งตรงนี้ก็คือการเปลี่ยนแนวคิดของลูกค้าที่เป็นผู้บริโภค ทำให้ดีเวลลอปเปอร์วางใจได้เลยว่า โครงการที่วางในมือเรา จะวางแผนตั้งแต่วันแรกสร้างจนถึงวันโอน เราทำให้เห็นจนได้รับการยอมรับมาแล้วจากคู่ค้าที่วางใจใช้บริการ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ตรงกัน เป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือมีเงินทุนสูง เพราะเราต้องคิดวางแผนร่วมกันตั้งแต่การจัดซื้อที่ดิน วิเคราะห์กลุ่มลูกค้า ราคาขาย เพื่อหากลยุทธ์ส่งเสริมการขาย หากวางแผนดีๆ ทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนที่ถูกลง งบการตลาดน้อย ทำให้ขายได้ราคาถูก ขณะเดียวกันคุณภาพสินค้าอาจจะดีเทียบเท่าหรือมากกว่าคู่แข่งในตลาด ทำอย่างไรให้ผู้ซื้อผู้ขายตรงตามกลุ่มเป้าหมาย ผมมีทีมรีเสิร์ชทำเล ทำเปรียบเทียบราคา ทำเล การเดินทาง และคุณภาพสินค้าได้อย่างน่าเชื่อถือ ผมมีสถิติให้ลูกค้าดู เราทำการบ้านและต้องศึกษาคู่แข่งอยู่เสมอ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วีบียอนด์ อธิบายวรเดช บอกว่า นอกจากการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ แล้ว สถาบันการเงินเองต้องเชื่อมั่นเช่นกันว่าจะไม่เกิดหนี้เสียจากสินเชื่อจากลูกค้าวีบียอนด์ ธนาคารจะได้ลูกค้าคุณภาพเพราะวีบียอนด์ช่วยเลือกลักษณะสินค้าให้ตรงกับลูกค้าเพื่อให้ลูกค้ามีความสามารถในการผ่อนชำระเงินกู้ ดังนั้นหัวใจของวีบียอนด์คือ ประสานทั้ง 3 ส่วนนี้ให้วิน-วิน ทุกฝ่าย ลูกค้าได้ของดีในราคาไม่สูง ผู้พัฒนาปิดการขายได้ในกำไรที่น่าพึงพอใจ และสถาบันการเงินไม่มีหนี้เสียจากการปล่อยสินเชื่อ “เราต้องวางแผนร่วมกันกับดีเวลลอปเปอร์ วิเคราะห์ทำเล กลุ่มลูกค้า กำลังซื้อ ทำตามโมเดลการขายของสถาบันการเงินรวบรวมข้อมูลเป็นสถิติ วางแผนการตลาด และนำมาประยุกต์สร้างโปรดักส์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด การขายที่รวดเร็วจะต้องได้รับการวางแผนมาแล้วตั้งแต่ก่อนสร้าง”เมื่อหัวใจคือการขาย ผู้บริหารหนุ่มจากวีบียอนด์ ก็บอกว่า รูปแบบการขายที่มีอยู่ในโลกนี้ วีบียอนด์มีทั้งหมด ครอบคลุมทุกช่องทางในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์ ออฟไลน์ ไดเร็กเซล บูธเซล เทเลเซล เน็ตเวิร์คมาเก็ตติ้ง แอฟฟิเลียทมาเก็ตติ้ง ฯลฯ ที่เรียกว่าครบทุกรูปแบบโดยมีผู้บริหารที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาและกำกับดูแลแนวการทำงานตลอด ดังนั้นการบริหารองค์กรโมเดลจะคล้ายกับการบริหารการขายของบริษัทที่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายของต่างประเทศ เราเลือกทำงานกับคนเก่ง ไม่เน้นปริมาณ เพื่อที่จะให้เขามีผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจ ให้ความรู้สึกร่วมกันว่านี่คือกิจการของพวกเราทุกคนเอง“การเลือกทีมต้องเป็น Gen ใหม่ที่มีไฟในการคิดสร้างสรรค์ ร่วมกับคนที่มากประสบการณ์เพื่อหลอมเป็นหนึ่งเดียวกัน ปัจจุบัน ทั้งวีบียอนด์และวีบีแลนด์ มีพนักงานราว 300 คน เป้าหมายของผมคือก่อนจะนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2564 ในฐานะบริษัทพัฒนาและบริหารสินทรัพย์ และพัฒนาที่ดิน เราจะขยายองค์กรให้เติบโต ในตอนนั้นน่าจะมีพนักงานประมาณ 1,000 คน โดยยังคงรักษาระบบหลังบ้านและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ต้องดีที่สุด นโยบายของผมคือผมจะต้องสร้างรายได้ให้พนักงานเฉลี่ยให้ได้ 6 หลัก เมื่อผมทำให้พนักงานของเรามีความมั่งคั่งแล้ว อัตราการลาออกก็จะต่ำ ใครจะดึงตัวไปก็ยากเมื่อมีความมั่นคงในอาชีพแล้วความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานก็เกิดขึ้นตามมา ทำให้การทำงานของทุกคนในบริษัทมีความสุขในการทำงาน ผมคิดเสมอว่างานก็มีความสำคัญ แต่ครอบครัวของพนักงานทุกคนก็มีความสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน”เนื่องจากเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ การทำงานมีมากกว่าการเป็นผู้ให้บริการแต่เป็นที่ปรึกษาและพัฒนาสินทรัพย์ควบคู่กันจึงไม่น่าแปลกใจว่า ในอนาคตอาจจะมีการร่วมทุนกับคู่ค้า หรืออาจจะดิเวลลอปเองด้วยในอนาคต “ปัจจุบันเราเน้นแนวสูง เป้าหมายในอนาคตข้างหน้าวีบียอนด์จะเน้นแนวราบมากขึ้นเปิดโครงการแนวราบทุกระดับ ราคาทุกเซ้กเมนต์ ซึ่ง Backlog ของเรามีสต๊อกไปจนถึงปี 2564 แล้ว มูลค่าขายต่อปีน่าจะอยู่ประมาณ 7-8 พันล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขขายรวมทุกดิเวลลอปเปอร์ คาดว่า 3 ปีก่อนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมียอดขายรวมอยู่ประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งจะทำกำไรสุทธิอย่างน้อย 1.7 พันล้านบาท โดยในปี 2561 ใกล้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายแล้วเกือบ 100% และในปี 2562 จะจับกลุ่มบ้านมือ 2 รวมถึงโครงการทั้งแนวราบและแนวสูงในจังหวัดตามแนวระเบียงเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้ตามเป้า สินค้าดีเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนเรื่องขายเป็นเรื่องง่ายของเรา” วรเดช ทิ้งท้าย